ความแตกต่างระหว่างสบู่กลีเซอรีนและสบู่น้ำมัน (MP, CP, HP)

สบู่กลีเซอรีน

สบู่ MP ย่อมาจาก Melt & Pour (แปลแบบตรงตัว ก็คือ สบู่แบบหลอมเท)

แต่คนไทยมักเรียกสบู่ประเภทนี้ว่า สบู่กลีเซอรีน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า มีส่วนผสมของกลีเซอรีนเป็นหลัก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ในความเป็นจริง สบู่ MP ผลิตจากการนำเบสสบู่สำเร็จรูปมาหลอมด้วยความร้อน เติมสี กลิ่น ฯ ได้เป็นสบู่ที่มีรูปลักษณ์สวยงามตามที่วางขายในท้องตลาดทั่วไป โดยเบสสบู่ที่นำมาใช้มีสารตั้งต้นคล้ายกับการทำสบู่ประเภทอื่นๆ แต่มีการเติมสารเคมีหลายอย่างลงไป เพื่อลดต้นทุน และทำให้สบู่มีคุณลักษณะที่ดีขึ้น เช่น สารทำให้เกิดฟอง แอลกอฮอล์ เกลือ Tween ฯลฯ โดยเฉพาะกรณีที่ต้องการทำสบู่ใส อาจมีการเติมสารซักล้าง (Detergent) เพิ่มขึ้น เนื่องจากการใช้ไขมันเป็นสารตั้งต้นมักจะได้เนื้อสบู่ขุ่นตามธรรมชาติของไขมัน

สบู่น้ำมัน

มี 2 ประเภท คือ สบู่ CP และ HP

สบู่ CP (Cold Process, สบู่แบบกวนเย็น)

เป็นการผลิตที่กระบวนการผลิตเริ่มตั้งแต่การทำเบสสบู่ โดยอาศัยปฏิกิริยาทางเคมีคือ น้ำมัน (จากพืช) + ด่าง = สบู่ ซึ่งการทำสบู่ในลักษณะนี้ ผู้ผลิตสามารถกำหนดคุณภาพสบู่ที่ต้องการได้เอง เช่น สบู่เพื่อผิวแห้ง ผิวมันบำรุงผิว สูตรอ่อนโยนต่อผิว โดยเลือกน้ำมันที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อผลิตสบู่ให้ได้คุณภาพตามต้องการขั้นตอนการผลิตสบู่แบบ CP เริ่มจากการผสมด่างกับน้ำมัน แล้วกวนให้เข้ากัน จนข้น (Trace) เติมสี แต่งกลิ่น เทลงโมล ระหว่างที่สบู่อยู่ในโมล 2-4 ชม. จะเกิดปฏิกิริยาทำให้ส่วนผสมกลายสภาพจากของเหลวเป็นเนื้อสบู่โดยสมบูรณ์ โดยระหว่างการเกิดสบู่ ภายในแบชของสบู่ที่ทำนั้นจะมีกลีเซอรีนธรรมชาติเกิดขึ้นภายในเนื้อสบู่ ซึ่งกลีเซอรีนนี้ทำให้เกิดความนุ่มนวลต่อผิวเวลาใช้งาน มีคุณสมบัติในการเคลือบ กักเก็บความชุ่มชื้น และบำรุงผิวสบู่ CP มีลักษณะพิเศษ คือ สามารถสร้างลวดลายบนสบู่ได้หลากหลาย ทำให้การทำสบู่เป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่ง

หลังจากผลิตสบู่แล้วเสร็จ จะต้องบ่มสบู่ไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้ปฏิกิริยาการเกิดสบู่ดำเนินไปอย่างสมบูรณ์ ไม่มีด่างหลงเหลืออยู่ เมื่อครบกำหนดแล้ว ผู้ผลิตจะต้องทำการทดสอบค่า PH โดยค่าสบู่ที่ดีควรมีค่า PH ประมาณ 8 ทั้งนี้ อย. ของไทยกำหนดค่า PH ของสบู่ว่า ควรอยู่ระหว่าง 8-11

สบู่ HP (Hot Process, สบู่แบบกวนร้อน)

มีวัตถุดิบตั้งต้นเหมือนสบู่ CP ทุกอย่าง ต่างกันที่กรรมวิธีการผลิตในขั้นสุด คือ เริ่มต้นจากการนำน้ำมันที่ผ่านการคัดเลือกคุณภาพมาแล้ว ผสมกับน้ำด่าง กวนจนข้นตามต้องการ ผสมสี กลิ่น (ถ้าต้องการ)
จากนั้น นำไปตุ๋นไฟอ่อนๆ เป็นการให้ความร้อนเพื่อเร่งการทำปฏิกิริยาให้เป็นสบู่สมบูรณ์เร็วขึ้น แทนที่การตากสบู่เหมือนสบู่ CP ที่ต้องตากนานถึง 3 สัปดาห์ โดยการตุ๋นไฟดังกล่าวใช้เวลาเพียงประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้น ตากสบู่ทิ้งไว้ 3-5 วัน เพื่อให้สบู่แข็งตัว แล้วจึงนำมาตัดเป็นก้อนๆ